วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตราสารหนี้ กับการคุ้มครองเงินฝาก

จัดทำบทความโดย ชื่อ-สกุล : นส.บุญจิรา ชูสกุล เลขทะเบียน : 5001208020

เรื่อง ตราสารหนี้ กับการคุ้มครองเงินฝาก

เผลอหน่อยเดียว อัตราดอกเบี้ยระยะยาวก็ปรับลดลงจนอยู่ที่ระดับที่ต่ำกว่าช่วงปลายปีก่อน การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง ในช่วงกลางเดือนมกราคม ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ตลาดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะทรงตัวในระดับต่ำ และคาดต่อไปว่า ธปท.คงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก จึงเริ่มมีนักลงทุนทยอยซื้อตราสารหนี้ ซึ่งอัตราผลตอบแทน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ภายหลังมาตรการกันเงินสำรอง 30% จนทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับลดลงดังกล่าว

จำได้ว่าในช่วงปลายเดือนธันวาคม มีผู้วิตกกันมากว่า มาตรการนี้จะทำให้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน กู้ยืมเงินผ่านตลาดตราสารหนี้ ในอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติจะไม่สนใจเข้ามาลงทุนอีก แต่กลับกลายเป็นว่า แม้นักลงทุนต่างชาติจะยังไม่ได้เข้ามาซื้อ นักลงทุนไทยซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดตราสารหนี้อยู่แล้ว ก็ยังซื้อขายกันตามปกติ และสามารถทำให้ตลาดฟื้นตัวได้ดีในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว และขณะนี้ หากใครต้องการกู้ยืมผ่านตลาดนี้ ก็สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเดิมแล้ว

เมื่อพูดถึงความต้องการซื้อตราสารหนี้ ก็ทำให้นึกถึงการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก เพราะเมื่อจัดตั้งแล้ว ความต้องการซื้อตราสารหนี้ น่าจะสูงขึ้น ในขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก อยู่ในระหว่างการพิจารณา ของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากที่ได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม.มาแล้ว ดูแล้วกฎหมายฉบับนี้ก็คงจะผ่านออกมาได้ภายในปีนี้

กฎหมายฉบับนี้มีผลต่อผู้ที่เก็บออมเงินไว้ในธนาคาร กล่าวคือ ผู้ออมจะไม่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากทุกบาททุกสตางค์ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่จะได้รับการคุ้มครองเป็นบางส่วน และภายในเวลา 4 ปี วงเงินที่ได้รับความคุ้มครอง จะทยอยลดลงจนเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชี

จากตัวเลขเมื่อปลายปีก่อน จำนวนบัญชีที่มียอดเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาท จะมีจำนวนราว 8.5 แสนบัญชี และมียอดเงินฝากรวมมากถึง 5 ล้านล้านบาท (หรือร้อยละ 75 ของจำนวนเงินฝากทั้งหมด) ซึ่งแสดงว่า ยอดเงินเฉลี่ยในแต่ละบัญชีอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท คำถามที่น่าสนใจก็คือ เจ้าของบัญชีเหล่านี้จะจัดการอย่างไร กับเงินในบัญชีของตน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ หากยังคงเก็บรักษาเงินออมไว้ในบัญชีตามเดิม ก็ควรศึกษาฐานะของสถาบันการเงินผู้รับฝาก เพื่อให้มั่นใจว่าเขาสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้เป็นอย่างดี และสามารถคืนเงินฝากให้ได้ครบถ้วนเมื่อทวงถาม แต่ก็คงมีผู้ฝากเงินจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความรู้พอที่จะทำเช่นนั้น และอาจจะอยากหาแหล่งลงทุนที่สามารถได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนอย่างแน่นอน การลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ น่าจะเป็นทางเลือกที่ผู้ฝากเงินประเภทนี้คิดถึงเป็นอย่างแรก

ลองคิดเล่นๆ อย่างคร่าวๆ ว่า ถ้ามีผู้ฝากเงินประเภทหลังนี้อยู่สัก 1 ใน 10 หรือประมาณ 8 หมื่นบัญชี ณ สิ้นปีที่ 4 ก็จะมีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองอยู่ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 4 แสนล้านบาท ก็น่าจะโยกย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และหากคิดว่าจะต้องดำเนินการภายใน 4 ปี ก็จะเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท เทียบเงินจำนวนนี้กับปริมาณตราสารหนี้ที่ออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาทแล้ว ก็คงไม่น่าเป็นห่วง แต่การให้ความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในตราสารหนี้แก่ผู้ฝากเงินประเภทนี้ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

ธปท.ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาแล้วระยะหนึ่ง และได้เริ่มเดินสายร่วมกับตลาดตราสารหนี้ ต.ล.ท. และสมาคมธนาคารไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้จัดเป็นมหกรรมตราสารหนี้เพื่อประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวม 3 ครั้ง

นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ก็ได้นำพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชนไปจำหน่ายให้นักลงทุนรายย่อยด้วย ปรากฏว่างานดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าฟังเป็นจำนวนมากทุกแห่ง และความต้องการซื้อตราสารหนี้ก็มีมาก ในปีนี้ ก็จะมีการจัดงานแบบนี้อีกในวันที่ 17 มีนาคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจะทยอยจัดในจังหวัดต่างๆ ต่อไป ขอถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจทราบด้วย

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ในคอลัมน์นี้ในโอกาสต่อไป ก็น่าจะช่วยขยายความรู้ในเรื่องนี้ได้ไม่น้อย

ที่มา : คอลัมน์ คลื่นความคิด ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ มติชนรายวัน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10572

คำถาม

1 ถ้าเศรษฐกิจ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างนี้ จะมีผลกระทบอย่างไรกับอนาคต ?

2 ถ้าไม่มีตราสารหนี้ เราจะต้องทำอย่างไร ?

3 สถานะภาพการเงิน หรือ เศรษฐกิจตอนนี้ เราจะมีส่วนร่วมอย่างไร ที่จะไม่ให้มีผลต่อการเงินของเรา ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น