วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ราคาทองฉุดไม่อยู่ 17,900/บาท เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น

จัดทำโดย
นาย พงศ์ภีระ พรสิริธนพงษ์ 5001208072
เรื่อง ราคาทองฉุดไม่อยู่ 17,900/บาท เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น









จิตติ” ระบุทองปรับตัววันเดียว 4 ครั้ง 200 บาท เหตุเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวทำให้ความต้องการทองคำสูงขึ้น แนะนักลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารใกล้ชิด ด้านต่างประเทศระบุเหตุทองโลกพุ่งจากอัตราว่างงานต.ค.สหรัฐฯสูงเกิน 10%

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาทองคำว่า ขณะนี้ราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง โดยราคาอยู่ที่ 1,105 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ทำให้สมาคมค้าทองคำต้องปรับราคาขายทองคำเฉพาะวันนี้ไปแล้วครั้ง 4 รวม 200 บาท โดยราคาปิดตลาด ทองคำแท่งราคาขายออกอยู่ที่บาทละ 17,500 บาท รับซื้อที่ 17,400 บาท ส่วนราคาทองคำรูปพรรณ ขายออกบาทละ 17,900 บาท และรับซื้อที่ 17,145.96 บาท
นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า สำหรับราคาทองคำในตลาดโลก ที่แตะ 1,105 ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าไม่เกินกว่าที่คาดไว้ เพราะก่อนหน้านี้ ได้ประเมินว่า ราคาทองคำจะแตะ 1,120 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่อาจจะเห็นตัวเลขดังกล่าวได้ภายในเดือนนี้ ซึ่งถือว่าปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็ว สาเหตุสำคัญเพราะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการทองคำในระดับสูง
“วันนี้ไม่มีคนมาขายทอง คาดว่าเป็นเพราะก่อนหน้านี้ได้นำมาขายจนเกือบหมดแล้ว และอาจจะมีอีกส่วนหนึ่งที่คาดว่าราคาทองคำยังสูงขึ้นได้อีก แต่ถึงยังไงก็ขอย้ำให้ผู้ที่สนใจต้องระวังและติดตามข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น เพราะยิ่งราคาแพงเท่าไร ความเสี่ยงก็มีมากขึ้นเช่นกัน” นายจิตติ กล่าว
ด้านสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรเพราะเชื่อว่าอัตราว่างงานเดือนต.ค.ของ สหรัฐที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 10% จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะกดดันสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้อ่อนแอลง แต่จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดทองคำ
คำถาม
1. เหตุที่ราคาทองพุ่งนั้น ในต่างประเทศคิดว่าเกิดจากอะไร
2. นายกสมาคมค้าทองของไทยคือใคร
3. ปัจจัยบวกที่จะทำให้ราคาทองสูงขึ้นนอีกคือ (บรรทัดสุดท้าย)

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เงินบาทแข็งค่า...หนี้ดูไบเริ่มคลี่คลาย


จัดทำบทความโดย

น.ส. จุฑามาศ รุ่งเลิศชัยกุล เลขทะเบียน 5001208066


เรื่อง เงินบาทแข็งค่า...หนี้ดูไบเริ่มคลี่คลาย



ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 พ.ย.- 4 ธ.ค. 2552) ค่าเงินบาทปรับตัวใน ทิศทางแข็งค่า โดยสัปดาห์นี้ปรับตัวในช่วง 33.02-33.39 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 33.21 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์

โดยฟื้นตัวขึ้นตามค่าเงินภูมิภาคหลัง นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของดูไบเวิลด์ จำนวน 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเริ่มมีการขายเงินเหรียญสหรัฐออกมาอีกครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้เสนอให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ธนาคารต่างๆ ในดูไบ เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องแก่ธนาคาร และเป็นการจัดการด้านนโยบายเพื่อแก้ไขวิกฤตในขั้นแรก ซึ่งแนวทางดังกล่าวช่วยลดความกังวลที่ว่าวิกฤตหนี้จะลุกลามทำให้การปล่อยสินเชื่อหยุดชะงัก และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี แม้เงินเหรียญสหรัฐจะอ่อนค่าลง แต่เงินบาทยังทรงตัวที่ระดับ 33.18 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากยังขาดปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นต่อ ก่อนที่จะปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น หลังดูไบเวิลด์เผยแผนปรับโครงสร้างหนี้น้อยกว่าที่ตลาดคาด

ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดีช่วยสร้างความหวังให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะเดียวกันการเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เริ่มชะลอลงยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งให้เงินบาททะยานขึ้นสู่ระดับ 33.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก่อนจะปรับตัวในกรอบแคบๆ ที่ระดับ 33.11 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางปริมาณธุรกรรมที่ค่อนข้างเบาบางในช่วงก่อนวันหยุดยาวสุดสัปดาห์

อีกทั้งนักลงทุนบางส่วนชะลอการทำธุรกรรมเพื่อรอการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานสหรัฐในช่วงค่ำวันศุกร์ โดยคาดว่าการจ้างงานของสหรัฐ จะลดลง 1.3 แสนตำแหน่ง ลดลงเมื่อเทียบกับ 1.9 แสนตำแหน่ง ในเดือนต.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะทรงตัวที่ 10.2% เช่นเดิม

ในช่วงสัปดาห์นี้ (วันที่ 8-11 ธ.ค. 2552) สายงานธุรกิจตลาดทุนมองว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ คาดว่าเงินบาทยังคงปรับตัวในกรอบที่ใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเคลื่อนไหวในช่วง 33.05-33.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกรรมที่ค่อนข้างเบาบางในช่วงปลายปี

ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาในตลาด อย่างไรก็ดีเงินเหรียญสหรัฐยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงและภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวดี คาดว่ายังเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทให้มีโอกาสปรับแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยในประเทศยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจากการนัดชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงปลายสัปดาห์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น และอาจเป็นปัจจัยจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่ต้องจับตาในช่วงสัปดาห์นี้ ตลาดให้ความสนใจข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงปลายสัปดาห์ ได้แก่ ข้อมูลสต๊อกสินค้าภาคค้าส่งข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ การเผยงบประมาณของรัฐบาลกลาง ยอดค้าปลีก รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงปลายสัปดาห์ โดยคาดว่าข้อมูลจะออกมาดีเป็นส่วนใหญ่ และจะช่วยหนุนให้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้นต่อได้

ที่มา :
http://www.posttoday.com/finance.php?id=79551

คำถาม
1.ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เสนอให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ธนาคารต่างๆในดูไบ เพื่ออะไร
2.การเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ส่งผลให้เงินบาททะยานขึ้นสู่ระดับใด
3.การจ้างงานของสหรัฐลดลง 1.3 แสนตำแหน่ง เมื่อเทียบกับกี่ตำแหน่ง

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตราสารทุน


จัดทำบทความโดย ชื่อ-สกุล : นส.อรพรรณ จัทร์หอม เลขทะเบียน : 5001208052
ตราสารทุน (Equity Instruments)

เป็นตราสารที่กิจการออกให้แก่ผู้ถือ (Holder) เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ โดยผู้ถือตราสารทุนจะมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” รวมทั้งมีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ และมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล (Dividend) อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีข้อผูกพันว่ากิจการที่ออกตราสารทุนจะต้องจ่ายเงินปันผลเสมอนักลงทุนสามารถซื้อขายตราสารทุนได้ในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand - SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - mai) ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับบริษัทจดทะเบียนว่าจะเลือกเข้ามาระดมทุนและจดทะเบียนซื้อขายในตลาดใด (รายละเอียดการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET) โดยทั่วไปแล้ว ตราสารทุนที่พร้อมจะให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายจะมีหลากหลายประเภทดังต่อไปนี้ ไป ทั้งนี้ การตัดสินใจจ่ายเงินปันผลจะขึ้นอยู่กับผลกำไรและข้อตกลงของธุรกิจนั้นๆ


ประเภทตราสารทุน
หุ้นสามัญ (Common Stock)
เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน ซึ่งออกโดยบริษัทมหาชนจำกัดที่ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชน โดยผู้ถือหุ้นสามัญจะมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่


หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) เป็นตราสารประเภทหุ้นทุนที่ผู้ถือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ มีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญคือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับสิทธิในการชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ



ใบสำคัญแสดงสิทธิหรือวอแรนท์(Warrant)เป็นตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธินั้นอ้างอิงอยู่ (Underlying Asset) ตามราคาใช้สิทธิ ( Exercise Price) จำนวนที่ให้ใช้สิทธิ (นิยมใช้เป็นอัตราส่วน) และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า



หน่วยลงทุน (Unit Trust) หลักทรัพย์ที่ออกขายโดยบริษัทจัดการลงทุนเพื่อระดมเงินเข้ากองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้น แล้วจัดสรรเงินในกองทุนนั้นลงทุนในตลาดการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ผู้ถือหน่วยลงทุนมีฐานะร่วมเป็นเจ้าของกองทุนนั้น ๆ และมีสิทธิได้รับเงินปันผลตอบแทนจากผลกำไรที่เกิดขึ้น



ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือ เอ็นวีดีอาร์ (Non - Voting Depositary Receipt : NVDR) เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด มีสถานะเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยอัตโนมัติ ( Automatic List) และมีหลักทรัพย์อ้างอิง ( Underlying Asset ) เป็นหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงใบแสดงสิทธิในผล



ประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (Depository Receipt : DR)เป็นตราสารที่ออกและเสนอขายโดยบริษัท สยามดีอาร์ จำกัด เป็นหลักทรัพย์ที่ให้สิทธิอ้างอิงอาจเป็นได้ทั้งหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ผู้ลงทุนที่ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกประการ สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

คำถาม

1. ประเทศไทยมีตลาดหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายตราสารทุนได้ สองแห่ง อยากทราบว่าที่นั่นคือที่ใด

2. ประเภทของตราสารทุนมีอะไรบ้าง

3. ความแตกต่างระหว่าง หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ์คือ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตราสารหนี้ กับการคุ้มครองเงินฝาก

จัดทำบทความโดย ชื่อ-สกุล : นส.บุญจิรา ชูสกุล เลขทะเบียน : 5001208020

เรื่อง ตราสารหนี้ กับการคุ้มครองเงินฝาก

เผลอหน่อยเดียว อัตราดอกเบี้ยระยะยาวก็ปรับลดลงจนอยู่ที่ระดับที่ต่ำกว่าช่วงปลายปีก่อน การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง ในช่วงกลางเดือนมกราคม ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ตลาดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะทรงตัวในระดับต่ำ และคาดต่อไปว่า ธปท.คงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก จึงเริ่มมีนักลงทุนทยอยซื้อตราสารหนี้ ซึ่งอัตราผลตอบแทน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ภายหลังมาตรการกันเงินสำรอง 30% จนทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับลดลงดังกล่าว

จำได้ว่าในช่วงปลายเดือนธันวาคม มีผู้วิตกกันมากว่า มาตรการนี้จะทำให้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน กู้ยืมเงินผ่านตลาดตราสารหนี้ ในอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติจะไม่สนใจเข้ามาลงทุนอีก แต่กลับกลายเป็นว่า แม้นักลงทุนต่างชาติจะยังไม่ได้เข้ามาซื้อ นักลงทุนไทยซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดตราสารหนี้อยู่แล้ว ก็ยังซื้อขายกันตามปกติ และสามารถทำให้ตลาดฟื้นตัวได้ดีในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว และขณะนี้ หากใครต้องการกู้ยืมผ่านตลาดนี้ ก็สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเดิมแล้ว

เมื่อพูดถึงความต้องการซื้อตราสารหนี้ ก็ทำให้นึกถึงการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก เพราะเมื่อจัดตั้งแล้ว ความต้องการซื้อตราสารหนี้ น่าจะสูงขึ้น ในขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก อยู่ในระหว่างการพิจารณา ของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากที่ได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม.มาแล้ว ดูแล้วกฎหมายฉบับนี้ก็คงจะผ่านออกมาได้ภายในปีนี้

กฎหมายฉบับนี้มีผลต่อผู้ที่เก็บออมเงินไว้ในธนาคาร กล่าวคือ ผู้ออมจะไม่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากทุกบาททุกสตางค์ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่จะได้รับการคุ้มครองเป็นบางส่วน และภายในเวลา 4 ปี วงเงินที่ได้รับความคุ้มครอง จะทยอยลดลงจนเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชี

จากตัวเลขเมื่อปลายปีก่อน จำนวนบัญชีที่มียอดเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาท จะมีจำนวนราว 8.5 แสนบัญชี และมียอดเงินฝากรวมมากถึง 5 ล้านล้านบาท (หรือร้อยละ 75 ของจำนวนเงินฝากทั้งหมด) ซึ่งแสดงว่า ยอดเงินเฉลี่ยในแต่ละบัญชีอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท คำถามที่น่าสนใจก็คือ เจ้าของบัญชีเหล่านี้จะจัดการอย่างไร กับเงินในบัญชีของตน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ หากยังคงเก็บรักษาเงินออมไว้ในบัญชีตามเดิม ก็ควรศึกษาฐานะของสถาบันการเงินผู้รับฝาก เพื่อให้มั่นใจว่าเขาสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้เป็นอย่างดี และสามารถคืนเงินฝากให้ได้ครบถ้วนเมื่อทวงถาม แต่ก็คงมีผู้ฝากเงินจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความรู้พอที่จะทำเช่นนั้น และอาจจะอยากหาแหล่งลงทุนที่สามารถได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนอย่างแน่นอน การลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ น่าจะเป็นทางเลือกที่ผู้ฝากเงินประเภทนี้คิดถึงเป็นอย่างแรก

ลองคิดเล่นๆ อย่างคร่าวๆ ว่า ถ้ามีผู้ฝากเงินประเภทหลังนี้อยู่สัก 1 ใน 10 หรือประมาณ 8 หมื่นบัญชี ณ สิ้นปีที่ 4 ก็จะมีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองอยู่ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 4 แสนล้านบาท ก็น่าจะโยกย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และหากคิดว่าจะต้องดำเนินการภายใน 4 ปี ก็จะเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท เทียบเงินจำนวนนี้กับปริมาณตราสารหนี้ที่ออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาทแล้ว ก็คงไม่น่าเป็นห่วง แต่การให้ความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในตราสารหนี้แก่ผู้ฝากเงินประเภทนี้ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

ธปท.ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาแล้วระยะหนึ่ง และได้เริ่มเดินสายร่วมกับตลาดตราสารหนี้ ต.ล.ท. และสมาคมธนาคารไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้จัดเป็นมหกรรมตราสารหนี้เพื่อประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวม 3 ครั้ง

นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ก็ได้นำพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชนไปจำหน่ายให้นักลงทุนรายย่อยด้วย ปรากฏว่างานดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าฟังเป็นจำนวนมากทุกแห่ง และความต้องการซื้อตราสารหนี้ก็มีมาก ในปีนี้ ก็จะมีการจัดงานแบบนี้อีกในวันที่ 17 มีนาคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจะทยอยจัดในจังหวัดต่างๆ ต่อไป ขอถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจทราบด้วย

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ในคอลัมน์นี้ในโอกาสต่อไป ก็น่าจะช่วยขยายความรู้ในเรื่องนี้ได้ไม่น้อย

ที่มา : คอลัมน์ คลื่นความคิด ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ มติชนรายวัน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10572

คำถาม

1 ถ้าเศรษฐกิจ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างนี้ จะมีผลกระทบอย่างไรกับอนาคต ?

2 ถ้าไม่มีตราสารหนี้ เราจะต้องทำอย่างไร ?

3 สถานะภาพการเงิน หรือ เศรษฐกิจตอนนี้ เราจะมีส่วนร่วมอย่างไร ที่จะไม่ให้มีผลต่อการเงินของเรา ?

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ยินดีต้อนรับ


ไงก็สวัสดี สำหรับผู้ที่ได้แวะชมและเยี่ยมเยียน
ขอให้ผู้แวะ ได้คะแนนเยอะๆ นะครับ
จุบุ จุบุ