วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ราคาทองฉุดไม่อยู่ 17,900/บาท เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น

จัดทำโดย
นาย พงศ์ภีระ พรสิริธนพงษ์ 5001208072
เรื่อง ราคาทองฉุดไม่อยู่ 17,900/บาท เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น









จิตติ” ระบุทองปรับตัววันเดียว 4 ครั้ง 200 บาท เหตุเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวทำให้ความต้องการทองคำสูงขึ้น แนะนักลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารใกล้ชิด ด้านต่างประเทศระบุเหตุทองโลกพุ่งจากอัตราว่างงานต.ค.สหรัฐฯสูงเกิน 10%

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาทองคำว่า ขณะนี้ราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง โดยราคาอยู่ที่ 1,105 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ทำให้สมาคมค้าทองคำต้องปรับราคาขายทองคำเฉพาะวันนี้ไปแล้วครั้ง 4 รวม 200 บาท โดยราคาปิดตลาด ทองคำแท่งราคาขายออกอยู่ที่บาทละ 17,500 บาท รับซื้อที่ 17,400 บาท ส่วนราคาทองคำรูปพรรณ ขายออกบาทละ 17,900 บาท และรับซื้อที่ 17,145.96 บาท
นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า สำหรับราคาทองคำในตลาดโลก ที่แตะ 1,105 ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าไม่เกินกว่าที่คาดไว้ เพราะก่อนหน้านี้ ได้ประเมินว่า ราคาทองคำจะแตะ 1,120 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่อาจจะเห็นตัวเลขดังกล่าวได้ภายในเดือนนี้ ซึ่งถือว่าปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็ว สาเหตุสำคัญเพราะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการทองคำในระดับสูง
“วันนี้ไม่มีคนมาขายทอง คาดว่าเป็นเพราะก่อนหน้านี้ได้นำมาขายจนเกือบหมดแล้ว และอาจจะมีอีกส่วนหนึ่งที่คาดว่าราคาทองคำยังสูงขึ้นได้อีก แต่ถึงยังไงก็ขอย้ำให้ผู้ที่สนใจต้องระวังและติดตามข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น เพราะยิ่งราคาแพงเท่าไร ความเสี่ยงก็มีมากขึ้นเช่นกัน” นายจิตติ กล่าว
ด้านสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรเพราะเชื่อว่าอัตราว่างงานเดือนต.ค.ของ สหรัฐที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 10% จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะกดดันสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้อ่อนแอลง แต่จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดทองคำ
คำถาม
1. เหตุที่ราคาทองพุ่งนั้น ในต่างประเทศคิดว่าเกิดจากอะไร
2. นายกสมาคมค้าทองของไทยคือใคร
3. ปัจจัยบวกที่จะทำให้ราคาทองสูงขึ้นนอีกคือ (บรรทัดสุดท้าย)

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เงินบาทแข็งค่า...หนี้ดูไบเริ่มคลี่คลาย


จัดทำบทความโดย

น.ส. จุฑามาศ รุ่งเลิศชัยกุล เลขทะเบียน 5001208066


เรื่อง เงินบาทแข็งค่า...หนี้ดูไบเริ่มคลี่คลาย



ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 พ.ย.- 4 ธ.ค. 2552) ค่าเงินบาทปรับตัวใน ทิศทางแข็งค่า โดยสัปดาห์นี้ปรับตัวในช่วง 33.02-33.39 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 33.21 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์

โดยฟื้นตัวขึ้นตามค่าเงินภูมิภาคหลัง นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของดูไบเวิลด์ จำนวน 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเริ่มมีการขายเงินเหรียญสหรัฐออกมาอีกครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้เสนอให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ธนาคารต่างๆ ในดูไบ เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องแก่ธนาคาร และเป็นการจัดการด้านนโยบายเพื่อแก้ไขวิกฤตในขั้นแรก ซึ่งแนวทางดังกล่าวช่วยลดความกังวลที่ว่าวิกฤตหนี้จะลุกลามทำให้การปล่อยสินเชื่อหยุดชะงัก และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี แม้เงินเหรียญสหรัฐจะอ่อนค่าลง แต่เงินบาทยังทรงตัวที่ระดับ 33.18 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากยังขาดปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นต่อ ก่อนที่จะปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น หลังดูไบเวิลด์เผยแผนปรับโครงสร้างหนี้น้อยกว่าที่ตลาดคาด

ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดีช่วยสร้างความหวังให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะเดียวกันการเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เริ่มชะลอลงยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งให้เงินบาททะยานขึ้นสู่ระดับ 33.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก่อนจะปรับตัวในกรอบแคบๆ ที่ระดับ 33.11 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางปริมาณธุรกรรมที่ค่อนข้างเบาบางในช่วงก่อนวันหยุดยาวสุดสัปดาห์

อีกทั้งนักลงทุนบางส่วนชะลอการทำธุรกรรมเพื่อรอการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานสหรัฐในช่วงค่ำวันศุกร์ โดยคาดว่าการจ้างงานของสหรัฐ จะลดลง 1.3 แสนตำแหน่ง ลดลงเมื่อเทียบกับ 1.9 แสนตำแหน่ง ในเดือนต.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะทรงตัวที่ 10.2% เช่นเดิม

ในช่วงสัปดาห์นี้ (วันที่ 8-11 ธ.ค. 2552) สายงานธุรกิจตลาดทุนมองว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ คาดว่าเงินบาทยังคงปรับตัวในกรอบที่ใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเคลื่อนไหวในช่วง 33.05-33.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกรรมที่ค่อนข้างเบาบางในช่วงปลายปี

ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาในตลาด อย่างไรก็ดีเงินเหรียญสหรัฐยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงและภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวดี คาดว่ายังเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทให้มีโอกาสปรับแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยในประเทศยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจากการนัดชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงปลายสัปดาห์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น และอาจเป็นปัจจัยจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่ต้องจับตาในช่วงสัปดาห์นี้ ตลาดให้ความสนใจข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงปลายสัปดาห์ ได้แก่ ข้อมูลสต๊อกสินค้าภาคค้าส่งข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ การเผยงบประมาณของรัฐบาลกลาง ยอดค้าปลีก รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงปลายสัปดาห์ โดยคาดว่าข้อมูลจะออกมาดีเป็นส่วนใหญ่ และจะช่วยหนุนให้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้นต่อได้

ที่มา :
http://www.posttoday.com/finance.php?id=79551

คำถาม
1.ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เสนอให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ธนาคารต่างๆในดูไบ เพื่ออะไร
2.การเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ส่งผลให้เงินบาททะยานขึ้นสู่ระดับใด
3.การจ้างงานของสหรัฐลดลง 1.3 แสนตำแหน่ง เมื่อเทียบกับกี่ตำแหน่ง